แนะนำวิธีการกำจัดเพลี้ยแป้ง ภัยร้ายมันสำปะหลัง

นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เกิดปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดหนักในแหล่งปลูกมันสำปะหลัง 7 จังหวัด มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังได้รับความเสียหายแล้วไม่น้อยกว่า 421,070 ไร่ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา 350,000 ไร่ บุรีรัมย์ 12,500 ไร่ สระแก้ว 30,000 ไร่ ฉะเชิงเทรา 14,700 ไร่ ระยอง 5,000 ไร่ จันทบุรี 5,000 ไร่ และกำแพงเพชร 3,870 ไร่ นับเป็นปัญหาการระบาดขั้นภัยพิบัติร้ายแรง หากไม่เร่งควบคุมพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของไทยอาจเสียหายมากขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เพลี้ยแป้งระบาดอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่พบว่าเพลี้ยแป้งติดไปกับท่อนพันธุ์หรือแพร่กระจายไปตามกระแสลม นอกจากนี้ยังมีมดเป็นพาหะนำเพลี้ยแป้งไปสู่ต้นอื่น ถ้าสภาพอากาศแห้งแล้งและฝนทิ้งช่วงนาน เพลี้ยแป้งจะเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็ว การทำลายจะรุนแรงมากกว่าฤดูฝน โดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของมันสำปะหลัง ทั้งใบ ยอดและส่วนตา ทำให้ส่วนยอดแคระแกร็นแห้งตาย ใบหงิกงอรวมกันเป็นพุ่ม การเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ลำต้นมีช่วงข้อถี่ ถ้าระบาดช่วงที่ต้นมันสำปะหลังยังเล็กอาจมีผลต่อการสร้างหัวหรือทำให้ต้นมัน สำปะหลังตายได้

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แนะนำวิธีป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังว่า เกษตรกรควรใช้วิธีผสมผสาน ทั้งการเขตกรรม การใช้ชีววิธีและการใช้สารฆ่าแมลงด้วย ในส่วนของวิธีเขตกรรมนั้น สามารถทำได้โดยการไถและพรวนดินหลายๆ ครั้ง ตากดินอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อลดปริมาณเพลี้ยแป้งและศัตรูพืชชนิดอื่นที่อยู่ในดิน นอกจากนั้นเกษตรกรควรปลูกมันสำปะหลังช่วงต้นฤดูฝน หลีกเลี่ยงการปลูกในช่วงฤดูแล้ง ที่สำคัญต้องคัดเลือกท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่สะอาดปราศจากเพลี้ยแป้ง ไม่ควรใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งที่พบการระบาด

"กรณีนำท่อนพันธุ์มาจากแหล่งอื่นควรแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำสะอาดอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพื่อกำจัดเพลี้ยแป้งที่อาจติดมาได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ท่อนพันธุ์จากแปลงที่เพลี้ยแป้งระบาดหรือปลูกในแหล่งที่พบ การระบาดอยู่ก่อนแล้ว ก่อนปลูกควรจุ่มท่อนพันธุ์ด้วยสารฆ่าแมลงไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร นาน 5 นาที และหลังการเก็บเกี่ยวหัวมันสำปะหลังแล้ว เกษตรกรควรทำความสะอาดแปลง เก็บวัชพืช ซากพืชออกจากแปลงด้วย หากพบต้นหรือส่วนของต้นมันสำปะหลังมีเพลี้ยแป้งติดอยู่ต้องเผาทำลายทิ้ง"

เกษตรกรอาจใช้ด้วงเต่าและแมลงช้างปีกใส ซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้งมาช่วยควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งให้อยู่ใน ระดับสมดุลได้ กรณีระบาดอย่างรุนแรงจำเป็นต้องใช้สารฆ่าแมลงควบคุมด้วย สำหรับสารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพดี ได้แก่ ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ไดโนทีฟูเรน 10% WP อัตรา 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร โปรไทโอฟอส 50% EC อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร พิริมิฟอสเมทิล 50% EC อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร และไทอะมีโทแซม/แลมบ์ดาไซฮาโลทริน 24.7% ZC อัตรา 10 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร หรือใช้สารชนิดใดชนิดหนึ่งข้างต้น ลดอัตราลงครึ่งหนึ่งผสมกับสารไวท์ออยล์ 67% EC อัตรา 50 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร พ่นติดต่อกันอย่างน้อย 2 ครั้ง ซึ่งจะกำจัดเพลี้ยแป้งทั้งระยะตัวอ่อน ตัวเต็มวัย และไข่เพลี้ยแป้งได้ ที่สำคัญต้องหยุดใช้สารก่อนเก็บเกี่ยวหัวมันสำปะหลังอย่างน้อย 7 วัน

หากมีปัญหาสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-5583 หรือสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี โทร. 0-3939-7076

0 ความคิดเห็น

Leave a Reply

สนับสนุนโดย ทำสวน และลิงค์เพื่อนบ้านที่สนับสนุนโดย จัดสวน