สกัดสมุนไพรปราบเพลี้ยแป้ง

สกัดสมุนไพรปราบเพลี้ยแป้งให้อยู่หมัด-เตรียมขยายสู่เกษตรกรทั่ว ปท.
กรมหมอดินสกัดพืชสมุนไพร 3 ชนิด ได้แก่ ยาสูบ หนอนตายหยาก พริก หมักร่วมกับ ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ พด.7 ใช้ปราบเพลี้ยแป้งในไร่มันสำปะหลังอยู่หมัด เตรียมขยายผลสู่เกษตรกรทั่วประเทศ พร้อมแนะนำวิชาการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลัง รองรับความต้องการใช้เอทานอล
นายบัณฑิต ตันศิริ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ปัญหาเพลี้ยแป้งระบาดในไร่มันสำปะหลังกำลังส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกมัน สำปะหลังจำนวนมาก เนื่องจากเพลี้ยแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว และถึงแม้กรมพัฒนาที่ดินจะมีผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ สารเร่ง พด.7 ที่ทดสอบประสิทธิภาพแล้ว พบว่าสามารถนำมาเป็นหัวเชื้อหมักกับสมุนไพรไทย 3 ชนิด ประกอบด้วย ยาสูบ หนอนตายหยาก และพริก ได้ผลป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งได้เป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมากรมฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่อยู่ในโครงการเพิ่มผลผลิตมัน สำปะหลังที่กรมฯ ร่วมมือกับมูลนิธิพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าแปลงมันของเกษตรกรที่ใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพของกรมฯ ไม่ถูกเพลี้ยแป้งทำลาย

อย่างไรก็ตาม ถ้าส่งเสริมให้เกษตรกรจำนวนหนึ่งใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพกำจัดเพลี้ย แป้งได้ แต่ถ้าแปลงเกษตรกรรายอื่นไม่ทำก็จะพบปัญหาระบาดต่อไปไม่หยุด ดังนั้น กรมฯ จะเร่งถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ สารเร่ง พด.7 ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกจะต้องแช่ท่อนพันธุ์ในน้ำหมักชีวภาพ พด.7 เพื่อป้องกันโรค จากนั้นจะต้องฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพ ซูเปอร์ พด.2 เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และช่วยให้รากขยายตัว สามารถไปหาน้ำและธาตุอาหารได้ไกลขึ้น พร้อมกันนี้ต้องใส่ปุ๋ยชีวภาพ พด.12 ที่โคนต้น เนื่องจาก พด.12 มีสารออกซิน ช่วยเพิ่มขนาดของหัวมันได้เป็นสองเท่า นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้ปลูกถั่วพร้าระหว่างแถวเพื่อสับกลบเป็นปุ๋ยพืชสด ช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้ไม่ต่ำกว่า 50%

“วิธีการต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะช่วยป้องกันเพลี้ยแป้งได้แล้ว ยังสามารถเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังจาก 2.5 ตัน/ไร่ เป็น 4.7 ตัน/ไร่ ในขณะที่ต้นทุนของเกษตรกรก็ยังลดลงจากการใช้ปุ๋ยเคมีลดลงด้วย ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินตั้งเป้าจะขยายผลโครงการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังต่อไปอีก เพื่อรองรับความต้องการใช้พืชพลังงานในอนาคต โดยกรมฯ จะจัดโซนนิ่งปลูกมันสำปะหลัง เน้นวิธีการเพิ่มผลผลิต แต่ไม่ขยายพื้นที่ปลูก ซึ่งการเพิ่มผลผลิตให้ได้มากขึ้นอีก 30% ก็จะเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ” อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

0 ความคิดเห็น

Leave a Reply

สนับสนุนโดย ทำสวน และลิงค์เพื่อนบ้านที่สนับสนุนโดย จัดสวน