วิธีและการปลูกมะนาว ให้ได้ผล


มะนาวเป็นพืชตระกูล Rutaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrus aurantifolia Swingle มะนาวมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ มาช้านานแล้ว และนับวันจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ กล่าวคือคนไทยเรานิยมใช้มะนาวสำหรับปรุงอาหารเป็นประจำ ส่วนชาวต่างประเทศนอกจากใช้ปรุงอาหารแล้ว ยังใช้คั้นน้ำเป็นเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นที่นิยมกันมาก นอกจากนี้ในทางอุตสาหกรรมยังใช้สกัดน้ำมันจากผิวมะนาวเพื่อใช้ทำเครื่องสำอางและผสมยารักษาโรคบางชนิด ปัจจุบันนี้มะนาวสามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศ ทำรายได้ให้กับเกษตรกรปีละไม่น้อย

ถิ่นกำเนิดและการแพร่กระจาย

มะนาวมีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะอินดีสตะวันออก หรือภาคเหนือของอินเดีย ต่อมามีการนำเข้าไปยังประเทศไทยทวีปยุโรปและอเมริกา ปัจจุบันมีการปลูกแพร่หลายเป็นการค้าในเม็กซิโก หมู่เกาะอินดีสตะวันตก และอียิปต์

แหล่งปลูกในประเทศไทย

มะนาวสามารถปลูกได้ทุกภาคของประเทศไทย จังหวัดที่มีการปลูกมะนาวมาก ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ กาญจนบุรี นนทบุรี ปราจีนบุรี และสุพรรณบุรี เป็นต้น

พฤกษศาสตร์ของมะนาว

ลำต้น ลำต้นมีลักษณะงอ บนลำต้นมีหนามสีเขียวเข้มจนถึงสีเขียวอมเหลือง เกิดที่ซอกใบ หนามมีลักษณะแข็ง อ้วน แหลมและสั้น

ใบ รูปร่างรูปไข่ค่อนข้างกลม หรือรูปโล่ค่อนข้างกลม ใบขนาดเล็ก ความกว้าง 2-8 เซนติเมตร และยาว 4-8 เซนติเมตร ขอบใบหยักเล็กน้อยฐานใบกลม ปลายใบมีรอยเว้าเล็กน้อย ก้านใบมีปีกแคบ ๆ รูปร่างคล้ายช้อน

ดอก เกิดเป็นช่ออยู่ชอกใบ ช่อหนึ่งประกอบด้วยจำนวน 1-7 ดอก เกิดดอกเป็นระยะนาน แต่ละดอกมีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2.5 เซนติเมตร ชั้นกลีบเลี้ยงสีขาวอมเหลืองและเจือด้วยสีม่วงตามขอบกลีบดอก มีจำนวน 4-5 กลีบ เกสรตัวผู้มีจำนวน 20-25 อัน เกสรตัวเมียประกอบด้วยรังไข่ที่มี 9-12 ช่อง

ผล ผลขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3.5-6.0 เซนติเมตร รูปร่างกลมหรือรูปไข่ที่ปลายผลมีลักษณะเป็นปุ่มเล็ก ๆ (apical papillae) และมีรอยแผลเป็นของยอดเกสรตัวเมีย ลักษณะคล้ายหัวนม ผิวเรียบ ที่ผิวเปลือกมีต่อมน้ำมันที่จมอยู่ภายในเปลือกต่อมมีจำนวนมากมาย เปลือกเมื่อผลอ่อนมีสีเขียวเข้ม เมื่อผลแก่มีสีเหลือง เขียวอมเหลือง หรือเขียว เปลือกบาง เปลือกติดกันแน่นแยกลำบาก เนื้อสีเขียวหรือเขียวอมเหลือง รสเปรี้ยวมากมีกลิ่นหอม

เมล็ด มีขนาดเล็ก รูปร่างไข่ เมล็ดหนึ่งมีหลายต้นกล้า เนื้อเยื่อสะสมอาหารสีขาว

พันธุ์มะนาว

พันธุ์มะนาวที่พบเห็นในเมืองไทยในขณะนี้มีอยู่หลายพันธ์ แต่ที่นิยมปลูกกัน ได้แก่

1. มะนาวหนัง ลักษณะเป็นพุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กสูงประมาณ 2-5 เมตร การแตกกิ่งก้านสาขาไม่เป็นระเบียบ กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมสีเขียวจางเมื่อโตขึ้น จะกลมและตามกิ่งมีหนามโคน หนามสีเขียว ปลายหนามสีน้ำตาล รอยต่อระหว่างสีเขียวและสีน้ำตาลมักมีรอยต่อเห็นได้ชัด เมื่อกิ่งแก่หนามจะแห้งและตาย
ผลอ่อนมีลักษณะกลมยาว หัวท้ายแหลม เมื่อโตขึ้นจะค่อย ๆ สั้นเข้าหัวท้ายจะมนเข้า ผลโตเต็มที่ ส่วนมากมีลักษณะกลมค่อนข้างยาว มีกลมมนบ้าง แต่น้อยกว่า ด้านหัวมีจุดเล็ก ๆ ผิวเรียบและมีเปลือกบาง
2. มะนาวไข่ ลักษณะลำต้นเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2-5 เมตร มีขนาดและลักษณะคล้ายกับมะนาวหนัง ผลอ่อนจะมีลักษณะกลมยาว หัวท่านแหลมจะค่อย ๆ มนเข้าเมื่อโตขึ้น เมื่อโตเต็มที่ลักษณะกลมมนเป็นส่วนใหญ่ ผิวเรียบ เปลือกบาง ผลโตกว่ามะนาวหนังเหมาะสำหรับทำมะนาวดอง
3. มะนาวทราย ในปัจจุบันนี้นิยมปลูกกันมากที่สุด เพราะเป็นมะนาวที่ออกลูกมาก และออกดอกตลอดปี ซึ่งได้แก่
3.1 พันธุ์แม่ไก่ไข่ดก ลักษณะผลกลม ผลมีขนาดกลาง แต่ความดกมีมาก ให้ผลได้เกือบตลอดทั้งปี ปลูกในกระถางก็สามารถออกดอกและเก็บผลได้
3.2 พันธุ์แป้นรำไพ ลักษณะทรงผลแป้น ผลใหญ่กว่าแม่ไก่ไข่ดกเปลือกไม่หนามาก
3.3 พันธุ์แป้นทวาย ผลมีขนาดกลาง ทรงผลแป้น เปลือกบาง
4. มะนาวฮิติ เป็นมะนาวพันธุ์ต่างประเทศ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้นำมาจากหมู่เกาะตาฮิติ ผลมีขาดใหญ่ รูปร่างรูปไข่ เปลือกมีสีเขียว เนื้อมีสีเขียว เก็บเกี่ยวขณะที่เปลือกสีเขียวเข้ม มีกลิ่นและรสดี เป็นมะนาวไม่มีเมล็ด เพราะมีเซลล์สืบพันธุ์ทั้งสองเพศไม่สมบูรณ์ และมีสภาพเป็นพืชที่มีจำนวนโครโมโซม 3 ชุด (2n = 27) มักอ่อนแอต่อโรคแคงเกอร์
5. มะนาวหวาน มีผลขนาดใหญ่ ผลรูปร่างกลม เปลือกสีเขียวเข้ม รสไม่เปรี้ยว หรือเปรี้ยวน้อยกว่าพันธุ์อื่น จึงไม่ค่อยนิยมปลูกกัน
6. มะนาวปีนัง ลักษณะผลกลมยาว ผลโตกว่ามะนาวหนัง ก้นแหลมคล้ายไข่เต่า เปลือกหนา มีกลิ่นหอม ปลูกเป็นไม้ประดับได้ดี
7. มะนาวโมฬี ลักษณะลูกกลมโต แต่ส่วนก้นจะกลมแป้น มีเปลือกหนา พันธุ์นี้มีรสเปรี้ยวมาก ลำต้นจะใหญ่แข็งแรง เหมาะสำหรับใช้ทำเป็นต้นตอ
8. มะนาวพม่า มีผลโตเกือบเท่าส้มเขียวหวาน เปลือกหนา ใบค่อนข้างจะรี ๆ ขอบใบมีจักเล็กน้อย มีรสเปรี้ยว แต่ไม่ค่อยมีกลิ่นจึงไม่ค่อยนิยมปลูกกันมาก

การขยายพันธุ์มะนาว

วิธีนิยมขยายพันธุ์มะนาวมากที่สุดในบ้านเราขณะนี้คือ การตอนกิ่งซึ่งมีขั้นตอนการทำดังนี้

1. เลือกกิ่งมะนาวกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ สีของกิ่งเริ่มเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลอ่อน ยาว ประมาณ 30-50 เซนติเมตร ต้นพันธุ์ ควรเลือกจากต้นที่แข็งแรงปราศจากเชื้อโรค โดยเฉพาะเชื้อไวรัส

2. ควั่นกิ่งเป็น 2 รอย ถึงเนื้อไม้ห่างกันประมาณ 1 นิ้ว จากนั้นลอกเปลือกออก

3. ใช้สันมีดขูดเนื้อเยื่อเจริญออกให้หมดโดยจะขูดจากข้างบนลงล่าง

4. หาสารเร่งรากพวกเซราดิกซ์ เบอร์ 3 ตรงบริเวณด้านบนของรอยควั่น

5. หุ้มด้วยกาบมะพร้าวที่มีความชื้น หรือหุ้มด้วยขุยมะพร้าว มัดกระเปาะหัวท้ายให้แน่น

6. ทิ้งไว้ประมาณ 30-45 วัน รากจะแทงออกมาให้เห็น เมื่อเห็นว่ามีรากมากแล้วก็ตัดลงไปชำในถุง เก็บไว้ในที่ร่มรำไร เพื่อเลี้ยงไว้สำหรับปลูกในแปลงต่อไป

การปักชำ

วิธีการนี้สามารถทำได้ โดยการปักชำกิ่งกึ่งอ่อนกึ่งแก่ นำมาตัดเป็นอ่อน ๆ ยาวท่อนละ 6-8 นิ้ว ตัดให้ชิดข้อ ส่วนด้านปลายตัดเหนือตาบนสุดประมาณ 0.5 เซนติเมตร ควรตัดเฉียงเล็กน้อย เพื่อป้องกันน้ำขังซึ่งจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กิ่งปักชำเน่า ส่วนโคนกิ่งตัดเป็นรูปปากฉลามใต้ข้อ กิ่งปักชำควรไว้ใบประมาณ 4-6 ใบ ทำการกรีดโคนกิ่ง 3-4 รอย ยาวประมาณ 1 นิ้ว นำไปจุ่มสาร NAA ความเข้มข้น 4,000 ส่วนต่อล้าน นาน 1-2 นาที จากนั้นนำกิ่งมะนาวไปผึ่งลมให้แห้ง แล้วนำมาปักชำในกระบะพ่นหมากประมาณ 30 วัน กิ่งปักชำเริ่มติดราก

นิสัยการเจริญเติบโต

มะนาวเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดเล็กเจริญเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขากว้างการแตกออกของกิ่งค่อนข้างไม่เป็นระเบียบ ลักษณะทรงพุ่มสูงประมาณ 5 เมตร ช่วงการแตกใบอ่อนหลายครั้ง เมื่อมีการแตกใบอ่อนแล้วมักจะมีการออกดอกตามมาด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น ด้วยเหตุนี้จึงมีการบังคับให้มะนาวออกดอกติดผล โดยใช้วิธีเลียนแบบธรรมชาติและลักษณะนิสัยของมะนาว คือ เมื่อมีอาการใกล้ตายเนื่องจากขาดาน้ำ จะทิ้งใบเมื่อได้รับน้ำ ก็จะผลิยอดใหม่ แล้วตามด้วยการออกดอก ด้วยเหตุนี้เกษตรกรชาวสวนจึงหาวิธีบังคับให้มะนาวออกดอกในช่วงฤดูฝน เพื่อที่จะได้จำหน่ายในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน

การปลูกและการดูแลรักษา

1. การเลือกพื้นที่ปลูก มะนาวสามารถขึ้นได้ในพื้นที่เกือบทุกชนิดโดยจะปลูกในดินเหนียว ดินทราย ดินร่วนปนทราย หรือดินลูกรังก็ขึ้นได้ทั้งนั้น ปลูกได้ตั้งแต่ที่ดินจนถึงที่ลุ่ม แต่ที่สำคัญต้องระบายน้ำดี เนื่องจากมะนาวไม่ชอบน้ำขัง การที่จะปลูกมะนาวให้เจริญงอกงามดีและให้ผลผลิตดีนั้น การปลูกในพื้นที่ที่มีดินร่วนซุย มีอินทรียวัตถุมากความเป็นกรด-ด่างประมาณ 5.5-6.0

2. ฤดูปลูก ควรปลูกตอนต้นฤดูฝน ฉะนั้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนผู้ปลูกจะต้องปรับพื้นที่ให้เรียบ หรือทำเป็นคันร่องนูนแบบหลังเต่าเพื่อไม่ให้น้ำขังในช่วงฝนตกชุกและช่วยระบายน้ำออกได้โดยเร็ว

3. ระยะปลูก ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของดิน ถ้าดินอุดมสมบูรณ์ควรใช้ระยะ 6 x 6 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 44 ต้น หากดินไม่อุดมเพื่อไม่ให้น้ำขังในช่วงฝนตกชุกและช่วยระบายน้ำออกได้โดยเร็ว


4. การเตรียมหลุมปลูก ควรขุดหลุมให้มีขนาดกว้าง ยาว และลึก ประมาณ 50-100 เซนติเมตร แยกดินชั้นบนและล่าง จากนั้นนำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักผสม หลุมละ 3 บุ้งกี้ คลุกเคล้ากันได้ดี แล้วใส่ลงไปในหลุมให้สูงประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้น้ำขังรอบต้นมะนาวเมื่อฝนตกหนัก ซึ่งจะทำให้เกิดโรคโคนเน่า


5. การเตรียมกิ่งพันธุ์ ส่วนใหญ่การปลูกมะนาวจะนิยมปลูกจากกิ่งตอน ดังนั้นกิ่งตอนก่อนที่จะนำมาปลูกควรได้รับการชำเสียก่อน เพื่อให้กิ่งพันธุ์ตั้งตัวเจริญแข็งแรงพร้อมที่นำไปปลูกในหลุมที่เตรียมไว้
กิ่งที่ได้จากการชำและพร้อมที่จะนำลงหลุม ควรนำมาตัดแต่งกิ่งออกเสียบ้างให้เหลือเพียงส่วนน้อย เพื่อลดการระเหยของน้ำ และจะทำให้การเจริญเติบโตดีขึ้น หากกิ่งพันธุ์ที่ได้มามีลักษณะไม่สมบูรณ์ควรเลี้ยงไว้ระยะหนึ่งจนกว่าจะแข็งแรง ถ้ากิ่งพันธุ์มีโรคติดมาควรตัดออกทิ้งไป เพื่อไม่ให้โรคระบาดเข้ามาในสวนได้ และควรเตรียมกิ่งพันธุ์สำรองไว้เผื่อต้นตาย จะได้ซ่อมทันทีเพื่อให้ต้นมะนาวเติบโตทันกัน

6. การปลูก เมื่อเลือกพื้นที่ เตรียมกิ่งพันธุ์ เตรียมหลุมเรียบร้อยแล้ว จึงลงมือปลูก หากเป็นกิ่งตอน การปลูกควรให้ส่วนบนของตุ้มตอนอยู่ต่ำจากระดับผิวดินประมาณ 2 นิ้ว และอย่าลืมแกะเชือกและพลาสติกที่หุ้มตุ้มออก เวลาปลูกลงตรงกลางหลุมและคลี่รากให้แผ่ออกโดยรอบในลักษณะที่ไม่หักพับ แล้วค่อย ๆ โรยดินกลบดินให้แน่นเมื่อปลูกเสร็จ ควรปักหลักผูกเชือกยึดลำต้น เพื่อมิให้โยกคลอนตอนลมพัด ควรมีการบังร่มให้กับต้นมะนาวที่ปลูกใหม่หรือปลูกต้นกล้วยเพื่อบังร่ม

การดูแลรักษา

1. การให้น้ำ ในระยะที่ปลูกใหม่ ๆ ต้องค่อยหมั่นให้น้ำถ้าหากฝนทิ้งช่วงไปปกติมะนาวสามารถทนแล้งได้ดีพอสมควร ในปีแรกที่มะนาวยังเล็กอยู่ หลังฤดูฝนต้องสูบน้ำรดประมาณเดือนละ 2 ครั้ง ต้นมะนาวก็ยังอยู่ได้โดยไม่เหี่ยวเฉา และควรใช้พวกวัสดุคลุมดินโคนต้นช่วยด้วย เช่น หญ้าแห้งที่ถากและพรวนดินหรือลำต้น กล้วยที่ใช้ปลูกบังร่มตัดมาผ่าคลุมโคนต้นได้

2. การให้ปุ๋ย ในระยะปีแรกควรใส่ปุ๋ยอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ถ้าจะให้มากครั้งกว่านี้ต้องให้ครั้งละน้อยแต่บ่อยครั้ง การใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ๆ แรกใส่หลังจากเมื่อปลูกตอนต้นฤดูฝนแล้วประมาณ 3 เดือน ห่างจากลำต้นรอบๆ ประมาณ 1 คืบ โดยใช้ปุ๋ยผสมสำเร็จรูปสูตร 20-11-11 หรือ 20-14-14 ก็ได้ต้นละประมาณ 100 กรัมหรือครึ่งกระป๋องนมข้นหวานแล้วใช้ดินกลบ ส่วนครั้งที่ 2 ใส่หลังจากครั้งแรก 6 เดือน แต่ใช้ปุ๋ยต้นละประมาณ 100-250 กรัม หรือครึ่งถึงหนึ่งกระป๋องนมข้นหวาน แล้วแต่ต้นมะนาวจะโตมากน้อยแค่ไหนกล่าวคือมะนาวตนเล็กก็ใช้ปุ๋ยน้อย ถ้าต้นใหญ่ก็ใช้ปุ๋ยมาก ไม่ต้องเร่งจนเกินไป หรือเพื่อให้ต้นเล็กโตทันกับต้นใหญ่ สำหรับปีที่ 2 และปีที่ 3 ก็ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ใส่ปีละ 4 ครั้งเช่นกัน ห่างกัน 3 เดือน ครั้งแรกควรใส่ตอนต้นฤดูฝน จำนวนที่ใช้ก็ต้องมากขึ้น นอกจากนี้ควรใช้ปุ๋ยคอกที่เปื่อยผุพังแล้วช่วยอีกก็ยิ่งดี วิธีการใส่ปุ๋ยใช้จอบถางหญ้าให้เตียนตามแนวพุ่มต้นมะนาวโดยรอบ

3. การพรวนดินดายหญ้า ในฤดูฝนวัชพืชมักจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าหากไม่ถากถางออกเสียบ้างเป็นครั้งคราวก็จะไปแย่งอาหารต้นมะนาวได้ ฉะนั้นควรดายหญ้าสัก 1-2 ครั้ง ในฤดูฝนก่อนใส่ปุ๋ยตอนปลายฤดูฝน จำเป็นอย่างยิ่งต้องพรวนดินดายหญ้า สุ่มโคนต้นเพื่อช่วยเก็บความชุ่มชื้นในดินไว้ เพราะไม่มีฝนตกมากนักในฤดูหนาวและฤดูร้อน

4. การปลิดดอก ในระยะ 1-2 ปีนับจากวันปลูก ถ้าหากต้นมะนาวออกดอกในช่วงนี้ควรจะปลิดทิ้ง เพราต้นมะนาวยังเล็กไม่มีกำลังพอที่จะเลี้ยงทั้งต้นและลูก ถ้าหากปล่อยให้ติดลูกต้นมะนาวอาจจะแคระแกรนไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร หรือจะโทรมตายเร็วกว่าเท่าที่ควร ดังนั้นควรจะให้ต้นมะนาวติดผลได้เมื่ออายุ 3 ปี

5. การตัดแต่งกิ่ง ขณะที่ต้นมะนาวยังเล็กอยู่อายุ 1-2 ปี ควรตัดเฉพาะกิ่งที่แห้ง และที่อยู่ชิดดินออกไป ส่วนกิ่งที่ยาวมากก็ควรตัดให้สั้นลงหรือกิ่งกระโดงที่พุ่งจากโคนต้นสัก 1-2 กระโดงก็พอ เพื่อช่วยเสริมลำต้นเดิมให้มีกิ่งที่จะออกดอกติดผลได้มากขึ้นและให้ต้นโปร่ง ไม่ทึบ แสงแดดส่องได้ทั่วถึง

การผลิตมะนาวนอกฤดูกาล

ปกติต้นมะนาวจะออกดอกมากในช่วงหน้าแล้ง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน มะนาวมีการผลัดใบเก่าทิ้งแล้วผลิใบใหม่ ติดตามด้วยการออกดอกเป็นจำนวนมาก ผลผลิตจะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน อันเป็นผลให้มะนาวมีขายในท้องตลาดในช่วงนี้มาก ทำให้ราคาต่ำ ดังนั้นเกษตรกรหลาย ๆ แห่งจึงหาวิธีที่จะผลิตมะนาวให้มีผลเก็บเกี่ยวในช่วงหน้าแล้ง คือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน โดยบังคับให้มะนาวออกดอกในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ซึ่งมีวิธีการดังนี้คือ

1. การบังคับให้ใบแก่ของมะนาวร่วงในฤดูฝน

วิธีการนี้เป็นการปฏิบัติเพื่อให้มะนาวทิ้งใบแก่ หลังจากนั้นมะนาวจะมีการผลิยอดใหม่ออกมาพร้อมกับการออกดอก ซึ่งวิธีการทำให้ใบร่วงสามารถทำได้หลายวิธีคือ

1.1 การทำให้มะนาวขาดน้ำ เมื่อมีการขาดน้ำมาก ๆ ประมาณ 15-20 วัน ใบของมะนาวจะเริ่มสลัด หลังจากนั้นจะมีการให้น้ำพร้อมกับการให้ปุ๋ยทางใบสูตร 0-52-34 แต่วิธีการนี้อาจจะไม่ค่อยได้ผล เพราช่วงที่จะบังคับนี้เป็นช่วงฤดูฝนการจะกัดน้ำนั้นจึงเป็นไปได้ยาก

1.2 การรมควันไฟ จุดประสงค์เพื่อที่จะให้ใบแก่ร่วง ทำโดยการก่อกองไฟรอบ ๆ ทรงพุ่มของมะนาวโดยให้มีเฉพาะควันเท่านั้น อย่าให้มีเปลวไฟรมควันไฟจนกระทั่งใบมะนาวเริ่มเหี่ยวและร่วงหล่นในเวลาต่อมาหลังจากนั้นต้องมีการให้น้ำและปุ๋ย เพื่อให้ผลิยอดใหม่พร้อมกับการออกดอก

1.3 การให้ปุ๋ยยูเรียเข้มข้น 5% โดยน้ำหนัก มีวิธีการเตรียมดังนี้

- น้ำสะอาด 20 ลิตร (1 ปี๊บ)

- ปุ๋ยยูเรีย สูตร 46-0-0 จำนวน 1 กิโลกรัม

ทำการผสมปุ๋ยยูเรียในน้ำ คนให้ละลาย จากนั้นนำไปฉีดพ่นให้ทั่วโดยเฉพาะที่ใบ หลังจากนั้นประมาณ 3-7 วัน ใบมะนาวจะเริ่มร่วง โดยเฉพาะใบแก่ ใบที่ร่วงมีลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ส่วนใบอ่อนจะไม่ร่วงหลังจากใบแก่ร่วงแล้วจะต้องให้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24 ซึ่งเป็นปุ๋ยที่มีธาตุฟอสฟอรัสสูง เพื่อช่วยเร่งการออกดอก วิธีใส่ควรโรยปุ๋ยรอบ ๆ โคนต้นมะนาวต้นละประมาณ 1-2 กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและอายุของต้น หลังจากนั้นประมาณ 15 วัน มะนาวจะเริ่มออกดอก ต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันผลร่วง

2. การตัดแต่งกิ่งแล้วให้ปุ๋ยเคมีเร่งดอก

วิธีการนี้ไม่ต้องทรมานต้นมะนาวมากนัก ก็คือไม่ต้องใช้วิธีต่าง ๆ ทรมานให้มะนาวทิ้งใบแก่ โดยจะทำการตัดแต่งกิ่งมะนาวบริเวณปลายกิ่งของทุกกิ่ง โดยรอบต้นคือ ตัดออกประมาณ 1-3 นิ้ว ถ้าดินที่โคนมะนาวแห้งต้องให้น้ำ และหลังจากตัดแต่งกิ่งประมาณ 1 สัปดาห์ต้องให้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 หรือ 8-24-24 หรือปุ๋ยสูตรอื่นที่มีธาตุฟอสฟอรัสสูง เมื่อมะนาวมีการออกดอกควรให้น้ำและปุ๋ยเพื่อให้มีการติดผลดียิ่งขึ้น

3. การให้ดอกของมะนาวพันธุ์ทวาย

มะนาวหลายพันธุ์มีการออกดอกได้ตลอดทั้งปี ปีหนึ่งออกดอก 4-5 รุ่น เช่น พันธุ์แป้นรำไพ พันธุ์แป้นทวาย พันธ์แม่ไก่ไข่ดก พันธุ์ดังกล่าวนี้หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม จะมีการทยอยออกดอกไปเรื่อย ๆ แต่อย่างไรก็ตามการที่จะผลิตให้สามารถเก็บเกี่ยวในช่วงหน้าแล้งในปริมาณที่มากจำเป็นที่จะต้องมีการบังคับมะนาวให้ออกดอกโดยวิธีการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย

4. การชะลอเวลาการเก็บเกี่ยว

เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงการออกสู่ตลาดพร้อมกันของผลผลิตถึงแม้จะเป็นมะนาวในฤดูกาลก็ตาม หากสามารถยืดเวลาเก็บเกี่ยวให้ล้าออกไป ย่อมขายได้ราคาสูงกว่าในฤดูกาล การชะลอการเก็บเกี่ยวทำได้โดย ใช้ปุ๋ยยูเรียความเข้มข้น 0.5% โดยน้ำหนักฉีดพ่นผลมะนาวตั้งแต่ระยะผลเท่าหัวไม้ขีดไฟ ทุก 25 วัน พร้อมทั้งให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ สามารถยืดอายุการเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 1-2 เดือน


โรคและแมลง


โรค
โรคที่พบในมะนาวมากที่สุด ได้แก่ โคแคงเกอร์ โรคโคนและรากเน่า โรคใบแก้ว โรคราดำ และโรคยางไหล ซึ่งเป็นโรคที่ผู้ปลูกมะนาวควรรู้จักและหาวิธีป้องกันกำจัดไว้ล่วงหน้า
โรคแคงเกอร์ (Canker) ลักษณะอาการของโรคมีดังนี้
อาการบนใบ โรคเข้าทำลายตั้งแต่ระยะใบอ่อนจนถึงใบแก่ เริ่มแรกจะมีลักษณะแผลจุดใสขนาดเท่าหัวเข็มหมุด ต่อมาจะขยายใหญ่ขึ้นมีลักษณะ ฟู นูน คล้ายฟองน้ำที่บริเวณใต้ใบก่อน ถ้าอากาศร้อนและชุ่มชื้น อาการฟู นูนคล้ายฟองน้ำนี้จะปรากฏขึ้นบนใบ ลักษณะดังกล่าวจะทำให้บริเวณดังกล่าวมีสีซีดหรือจางกว่าสีของผิวใบ ต่อเมื่ออายุของแผลมากขึ้น สีของแผลจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีน้ำตาล ลักษณะฟู นูน คล้ายฟองน้ำบนใบนั้นจะยุบตัวลง เป็นแผลตกสะเก็ดขรุขระและแข็ง แผลที่เกิดโดยรอยมักมีสีเหลืองเป็นมันล้อมรอบ ส่วนมากขนาดของแผลจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.5-3.0 มิลลิเมตร และมีขนาดไม่เกิด 4 มิลลิเมตร

อาการบนกิ่ง ลำต้น และก้านใบ พบได้บนกิ่งและต้นที่ยังอ่อนอยู่ลักษณะของแผลที่เกิดใหม่จะมีสีเหลืองอ่อน ฟู นูน คล้ายกับแฟลที่ใบ ต่อมาแผลจะแห้งแข็งเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มขยายออกรอบกิ่ง หรือขยายเป็นทางไปบนกิ่ง รูปร่างของแผลไม่แน่นอน ขนาดโดยทั่วไปจะมีขนาดใหญ่กว่าและสีเข้มกว่าที่เกิดขึ้นที่ใบ และไม่มีขอบสีเหลืองล้อมรอบแผล

อาการบนผล อาการที่ปรากฏที่ผลระยะแรกคล้ายกับอาการที่ปรากฏที่ใบ แผลมีลักษณะสีเหลือง ฟู นูนคล้ายฟองน้ำ และเมื่อมีอายุมากขึ้น แผลยุบตัวลงเป็นสะเก็ดสีน้ำตาลแก่จนถึงสีดำอ่อน มีลักษณะแข็งและแห้ง ถ้าแผลเกิดขึ้นมาเดี่ยว ๆ จะมีลักษณะกลมนูน แต่ถ้าเกิดเป็นจำนวนมากมีรูปร่างไม่แน่นอน แผลฝังลึกลงในบริเวณผิวเปลือกแต่ไม่ถึงเนื้อในของมะนาว

สาเหตุของโรค เกิดจากเชื้อแบคที่เรียที่มีชื่อว่า Xanthomonas citri (Hassse.) Dowson เชื้อนี้เจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 25-27 องศาเซลเซียสแบคทีเรียชนิดนี้ระบาดได้โดยอาศัยน้ำขณะที่มีความชื้น เมื่อฝนตกหรือมีน้ำค้างมาก เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ที่แผลจะเคลื่อนตัวออกมาข้างนอก เมื่อหยดน้ำที่มีแบคทีเรียไปถูกกับใบ กิ่งและผลที่อ่อน ๆ ก็จะทำให้เกิดโรคได้ทันที แต่ถ้ากิ่งหรือต้นแก่ การเข้าทำลายของเชื้อจะเข้าทางบาดแผล นอกจากนี้ยังมีแมลงบางชนิด เช่น หนอนชอนใบส้มที่เป็นพาหะในการนำโรคเข้าสู่ต้นมะนาวมนุษย์ก็เป็นตัวการที่สำคัญในการแพร่กระจายโรค โดยการขนย้ายกิ่งพันธ์มะนาวจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง

การป้องกันกำจัด

1. ไม่นำกิ่งพันธุ์มะนาวจากสวนที่เกิดโรคนี้ไปขยายพันธ์ การเลือกกิ่งพันธ์มะนาวปลูกควรเลือกในฤดูฝน เพราะว่าจะทำให้เราสามารถคัดเลือกกิ่งพันธุ์มะนาวจากต้นที่ไม่เป็นโรคได้ชัดเจน เนื่องจากฤดูฝนเป็นฤดูที่มีความชื้นสูงอุณหภูมิพอเหมาะต่อการเจริญของโรคแคงเกอร์ ถ้าต้นหรือกิ่งพันธุ์ใดมีเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคนี้อยู่ก็จะแสดงอาการให้เห็นได้โดยง่าย การเลือกกิ่งพันธุ์มะนาวในฤดูแล้งไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคแคงเกอร์อาจมีชีวิตแฝงอยู่บนต้น หรือกิ่งมะนาวนั้นได้โดยไม่ทำให้กิ่งพันธ์นั้นแสดงอาการของโรคใด ๆ ออกมาให้เห็น ทั้งนี้อาจเป็นเพราสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมและอาจมีจำนวนไม่พอที่จะทำให้เกิดโรคขึ้นได้ หากสภาพแวดล้อมเหมาะสมโรคนี้ก็จะปรากฏขึ้นมาภายหลังได้

2. ทำลายแมลงจำพวกหนองซอนใบส้ม หนอนกัดกินใบ โดยการพ่นยาฆ่าแมลงหรืออาจใช้วิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสม

3. ตัดส่วนที่เป็นโรค เช่น ใบ กิ่งก้านออกเผาทำลายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด

4. ใช้สารปฏิชีวนะพวกสเตร็ฟโตไมซิน 3-5 กรัม ผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 15 วันต่อครั้ง ในระยะที่โรคระบาด


โรคราดำ (Sooty mold)

เกิดจากเชื้อราสีดำ เจริญปกคลุมผิวโดยที่เชื้อราไม่ได้เข้าทำลายแต่อย่างใดเป็นการทำลายทางอ้อมคือ ทำให้มะนาวสังเคราะห์แสงไม่ได้เต็มที่ใบจะสกปรก และกระด้าง ถ้าเกิดกับผลจะทำให้ผลไม่สวย ราดำจะเกิดหลังจากที่แมลงปากดูดเข้ากินน้ำเลี้ยงแล้วถ่ายมูลเอาไว้ ต่อไปจะเกิดเชื้อราสีดำหรือน้ำตาลขึ้นปกคลุม เชื้อราที่ว่านี้คือเชื้อรา Meliola sp. หรือ Capnodium citri BS Pesm. เมื่อเราใช้เล็บขูดบริเวณที่เป็นราดำออกจะเป็นบริเวณนั้นเป็นสีเหลืองซีด เนื่องจากเชื้อราบังแสงแดดทำให้การสังเคราะห์แสงเป็นไปได้ไม่เต็มที่ อาจทำให้ทำนาวแคระแกรนได้

การป้องกันกำจัด

1. ทำการตัดส่วนที่เกิดราดำแล้วนำไปเผาทำลาย

2. ควรใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่นเพื่อฆ่าแมลงปากดูด ซึ่งเป็นส่าเหตุที่ทำให้เกิดราดำ ก็สามารถลดปริมาณการระบาดของราดำลงได้

3. ใช้ยาฆ่าเชื้อโรคในสวนมะนาว ก็สามารถควบคุมโรคนี้ได้

โรคใบแก้ว

โรคใบแก้วนี้ต่างจากโรคอื่น ๆ ตรงที่สาเหตุของการเกิดโรคไม่ได้เป็นเชื้อโรค แต่เป็นการขาดธาตุสังกะสี หรือธาตุอาหารรองที่สำคัญ ๆ อย่างอื่นด้วย

อาการของโรคใบแก้วที่สังเกตเห็นได้ง่าย คือใบจะด่างเป็นสีเหลืองหรือขาวใสระหว่างเส้นใบของมะนาว ถ้าเป็นมาก ๆ ใบมะนาวจะเรียวเล็กและในที่สุดทั้งใบและยอดมะนาวจะแห้งตาย สำหรับต้นมะนาวที่เป็นโรคใบแก้ว จะให้ผลเล็กลงและมีน้ำน้อยต้นจะโทรมอย่างรวดเร็ว

การป้องกันกำจัด

1. เมื่อพบกิ่งที่เป็นโรค ควรใช้วิธีตัดแต่งกิ่งเผาทำลายเสีย พร้อมทั้งให้ปุ๋ยมีธาตุสังกะสีและแมกนีเซียมจะช่วยแก้ไขได้

2. ใช้ยาป้องกันเชื้อราบางพวกที่มีธาตุสังกะสี และธาตุรองที่สำคัญฉีดพ่นให้ต้นมะนาวทางใบจะช่วยแก้อาการโรคใบแก้วได้

3. ปรับสภาพดินให้มี PH ประมาณ 6.0-6.5

โรคยางไหล (Citrus gummosis)

โรคยางไหลของมะนาวนี้พบว่ามีสาเหตุ 2 ประการคือ

1. เกิดจากเชื้อโรค

2. เกิดจากขาดธาตุอาหาร หรือแผลเนื่องจากแมลงกัดเจาะ หรือแผลจากการถูกเครื่องมือทางการเกษตร

อาการยางไหล เนื่องจากเชื้อเข้าทำลาย

มะนาวมีอาการยางไหลออกมาจากบริเวณลำต้นและกิ่งก้าน โดยเฉพาะที่โคนต้นสูงจากดินประมาณ 1-2 ฟุต อาการเริ่มแรกจะเห็นเปลือกต้นมะนาวเป็นรอยช้ำ ต่อมาขยายใหญ่ขึ้น และเปลือกปริแตกออกมียางไหลออกมาจากผล เปลือกจะเน่าและแผลจะลุกลามไปถึงเนื้อไม้จนในที่สุดต้นอาจตายได้

สาเหตุของโรคยางไหล คือเชื้อราโบไทรโอดีฟโปรเดีย หรือดิฟโปรเดีย สปอร์ของเชื้อราจะแพร่กระจายไปกับยางที่ไหล หรือหยดน้ำที่กระเด็นไปจากแผล ฉะนั้นโรคนี้จะระบาดมากในช่วงฤดูฝน

การป้องกันกำจัด

1. ตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรคทิ้งโดยการเผาทำลาย และทาบาดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อรา เช่น สารทองแดง หรือกำมะถันผสมด้วยปูนขาวอย่างดี

2. ป้องกันโรคนี้โดยการบริเวณโคนต้นด้วยยาฆ่าเชื้อราประเภทสารทองแดง ควรทาก่อนฤดูฝนและหลังฤดูฝน

3. ควรตัดแต่งกิ่งและกำจัดวัชพืชบริเวณโคนให้โปร่ง เพื่อให้แสงแดดส่องถึง

โรครากเน่าและโคนเน่า

โรคนี้นับว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงของมะนาวอีกโรคหนึ่ง สาเหตุเกิดจากเชื้อราไฟทอปทอร์ หรืออาจเกิดจากน้ำขังบริเวณโคนต้นเป็นเวลานาน หรืออาจเกิดจากการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักที่ยังไม่สลายดีพอ

อาการของโรคคือ รากฝอยและรากแขนงจะเน่า รากจะเป็นสีน้ำตาลหรือดำ รากจะดูดน้ำและอาหารไม่ได้ จะแสดงอาการทางต้น คือใบเหลืองใบหลุดร่วง และต้นอาจตายในที่สุด

แมลงศัตรูมะนาว

หนอนชอนใบ
แมลงชนิดนี้ทำความเสียหายให้มะนาวในระยะใบอ่อนมากที่สุด และแผลที่เกิดจากแมลงชนิดนี้เข้าทำลาย จะก่อเกิดโรคแคงเกอร์ตามมา ในที่สุดใบมะนาวก็จะร่วง ต้นมะนาวจะแคระแกร็น
ตัวแก่ของแมลงชนิดนี้เป็นผีเสื้อกลางคืน ลำตัวสีน้ำตาลปนเทา ตัวเมียจะวางไข่ใต้ผิวใบมะนาว เมื่อฝักไข่เป็นตัวหนอน ตัวหนอนาจะชอนไชเข้าไปกินระหว่างใบพืช ตัวหนอนจะมีสีชมพูอ่อน ตัวยาวประมาณ 0.4 มิลลิเมตร เมื่อตัวหนอนโตจะเข้าดักแด้ที่ริมใบ โดยม้วนใบมะนาวเข้ามาห่อหุ้มตัวเองแล้วจึงออกมาเป็นผีเสื้อ การแพร่กระจายจะพบอยู่ทั่วไปในบริเวณที่ปลูกมะนาว และพบระบาดอยู่ทั้งปี

การป้องกันกำจัด

1. ใบอ่อนของมะนาวที่ถูกหนอนเข้าทำลายควรตัดยอดอ่อนออกแล้วเผาทำลาย
2. ในระยะที่มะนาวแตกใบอ่อน ควรฉีดพ่นด้วยยาในกลุ่มโมโนโครโตฟอส โดยผสมไพรีทรอยด์ในช่วงที่มีการระบาดรุนแรง

หนอนกินใบ
หนอนของแมลงชนิดนี้เป็นหนอนของผีเสื้อกลางวัน จะกัดกินใบอ่อนและยอดก่อนอย่างรวดเร็วภายในเวลา 2-3 วัน ลักษณะของผีเสื้อชนิดนี้คือปีกทั้งคู่หน้าและคู่หลังจะมีสีเทาปนดำ มีจุดสีเหลืองกระจายอยู่ทั่วทั้งปีก ตัวเมียจะออกไข่ที่ใบอ่อน แมลงชนิดนี้พบระบาดอยู่ทั่วไปตามบริเวณที่ปลูกมะนาว ระยะที่พบระบาดมากคือช่วงมะนาวแตกใบอ่อน

การป้องกันกำจัด
1. พ่นด้วยยาในกลุ่มเมตามิโคฟอส
2. ควรหมั่นตรวจตราบริเวณยอด หากพบหนอนของแมลงชนิดนี้ก็ควรทำลายเสีย

ไรแดง
ไรแดงเป็นศัตรูที่สำคัญอย่างหนึ่งของมะนาว ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่จะดูดกินน้ำเลี้ยงจากมะนาวโดยดูดจากใบ ยอดอ่อน มักพบระบาดในฤดูแล้งเมื่อเอามือลูบใบดูจะเห็นว่ามีสีแดงติดมือ ผลมะนาวที่ถูกไรแดงดูดจะมีสีน้ำเงิน ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้วร่วงไปในที่สุด ใบที่ถูกทำลานจะหงิกงอ
ตัวเต็มวัยของไรแดงมีสีแดงเข้ม มีขนสีขาวออกมาตามปุ่มของลำตัว 20 เส้น ลำตัวเป็นรูปไข่ โค้งนูนเล็กน้อย ตัวแก่มีอายุประมาณ 5-8 วัน

การป้องกันกำจัด

1. พ่นด้วยกำมะถันผง ชนิดละลายน้ำ ในอัตรา 4 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร ควรพ่นในเวลาเช้าเพื่อป้องกันใบไหม้
2. ฉีดพ่นยากันไรก่อนฝนทิ้งช่วง หรือช่วงที่ตรวจพบมีไรระบาดโดยสารเคมีในกลุ่มไดโคโฟลฉีดพ่น

การเก็บเกี่ยวและวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว
หลังจากปลูกมะนาวได้ประมาณ 15 วัน กิ่งพันธุ์เริ่มตั้งตัวได้ และจะผลิใบอ่อนออกมา ซึ่งบางทีก็จะมีดอกปนมาด้วย ในระยะนี้ควรจะปลิดดอกทิ้งเพราะต้นยังเล็กอยู่ยังมีอาหารสะสมไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงผล เมื่อต้นมะนาวมีอายุได้ 2 ปี อาจจะปล่อยให้ติดผลได้บ้างเล็กน้อย เมื่ออายุได้ 3 ปีขึ้นไป จึงจะปล่อยให้ติดผลเต็มที่ มะนาวต้นหนึ่ง ๆ จะให้ผลตั้งแต่ 150-200 ผลขึ้นไป เมื่ออายุได้ 6-7 ปีขึ้นไป ถ้าต้นสมบูรณ์ดีมีกิ่งก้านสาขาใหญ่โต อาจให้ผลถึง 800-1,000 ผล การที่จะดูว่าผลมะนาวเก็บเกี่ยวได้ เกษตรกรจะใช้วิธีนับอายุตั้งแต่ออกดอกถึงติดผล ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน การเก็บเกี่ยวควรใช้กรรไกรตัดเหนือขั้ว ระวังอย่าให้ผลเกิดบาดแผล เพราะจะทำให้เก็บรักษาได้ไม่นาน

2 ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ says:

    ขอบคุณ

  2. LetItBe says:

    การบำรุงต้นมะนาวและดินตั้งแต่เริ่มปลูกด้วยปุ๋ยที่มีกรดฮิวมิค ก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำเพื่อให้ได้ผลผลิตมะนาวที่ดีขึ้นและสม่ำเสมอ เพิ่มเติม ปุ๋ยมะนาว

    อีกสิ่งที่ทำได้คือใช้กรดอะมิโนสกัดเข้มข้นฉีดพ่นทางใบให้ต้นมะนาว เป็นอาหารเสริมสำหรับพืช เพิ่มเติม ปุ๋ยมะนาว

Leave a Reply

สนับสนุนโดย ทำสวน และลิงค์เพื่อนบ้านที่สนับสนุนโดย จัดสวน